ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต | |||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12356/2558โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. และ ม. และจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาท เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าโจทก์อย่างไร ทั้งตามคำร้องเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียน กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อผู้ร้องมิได้ตั้งประเด็นในคำร้องว่า โจทก์มิใช่บุคคลภายนอกและซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จึงต้องฟังว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. และ ม. โดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 6 นอกจากนี้ ผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำร้องว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก่อนโจทก์จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องจึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียนขึ้นใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามบทมาตราดังกล่าว และเมื่อตามคำร้องของผู้ร้องไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าโจทก์ที่อยู่ในที่ดินพิพาทได้จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งยกคำร้องโดยไม่จำต้องทำการไต่สวน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6652/2558คำร้องของผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตอย่างไร หรือการขายทอดตลาดเป็นไปโดยไม่ชอบอย่างไร คงคัดค้านเพียงว่าผู้คัดค้านมิใช่บริวารของจำเลยทั้งสองเท่านั้น เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่า กระทำการโดยสุจริต ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาอ้างว่าการซื้อทรัพย์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ก็เป็นการกล่าวอ้างภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้วว่าผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ในคำร้อง พยานหลักฐานจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทได้จากการขายทอดตลาดโดยสุจริต จึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย ผู้ร้องจึงได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยทั้งสองหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา สิทธิของผู้ร้องย่อมไม่เสียไป คำร้องผู้คัดค้านอ้างว่าเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2541 ถึงปัจจุบัน เท่ากับผู้คัดค้านอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่แรก มิได้แย่งการครอบครองไปจากผู้ร้อง เพราะการแย่งการครอบครองนั้น ผู้คัดค้านต้องยอมรับก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องแล้วผู้คัดค้านแย่งการครอบครอง อีกทั้งการแย่งการครอบครองจะมีขึ้นได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการแย่งการครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2558โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานใน ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 ในการรับซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ดังกล่าว แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มิได้เขียนกรอกข้อความและมอบโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกับเอกสารอื่นๆ ให้จำเลยที่ 1 ไป เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารชุดดังกล่าวมอบให้จำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 4 เขียนกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจผิดจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้รับซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เพราะในการรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เมื่อคดีฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเอกสารปลอม จึงถือได้ว่านิติกรรมซื้อขายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นและไม่มีผลใช้บังคับ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงเป็นของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10865/2555ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่าพระครู ส. จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการโอนให้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของกฎหมายว่า รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต มิได้ล่วงรู้ถึงการที่โจทก์จดทะเบียนให้พระครู ส. ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือ พระครู ส. ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์จึงต้องรับผิดผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 |